พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๔)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์ทรงศึกษาวิชาการด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การปกครองมากมายได้แก่ ตำราพิชัยสงคราม การฝึกอาวุธ วิชาคหกรรม โหราศาสตร์ และทรงโปรดวิชาภาษาต่างประเทศ เป็นพิเศษ เนื่องจากเห็นว่ามีความจำเป็นในอนาคต
สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงสนพระทัยในด้านพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ โดยเมื่อพระชนมายุครบผนวชพระองค์ได้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๗ ทรงได้รับพระฉายาว่า “วชิรญาณภิกขุ” ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๓ วัน แล้วจึงเสด็จไปจำพรรษาที่วัดสมอราย (วัดราชาธิราช) หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๒ สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต แต่มิได้ตรัสมอบพระราชสมบัติให้กับผู้ใด พระบรมวงศานุวงศ์จึงประชุมลงมติในที่ประชุมว่าควรอัญเชิญพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทน สมเด็จฟ้ามงกุฎจึงมิได้ทรงลาผนวช และทรงผนวชอยู่ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ ๓ ทำให้ทรงมีเวลามากมายในการศึกษาหาความรู้ในวิชาการแขนงต่างๆ จนแตกฉาน
ก่อนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสมอบคืนพระราชสมบัติให้แก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บรรดาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงประชุมกัน และมีมติอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้วพระองค์ก็ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฐานะเสมอเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน สมัยนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า มีพระมหากษัตริย์คู่แผ่นดินถึง ๒ พระองค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระอัครมเหสีพระนามว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี โดยมีพระนามเดิมว่า รำเพย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสและพระพระราชโอรสราชธิดารวมทั้งสิ้น ๔๒ พระองค์โดยมี ๓ พระองค์ที่ประสูติจากพระอัครมเหสี ได้แก่
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
๒. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลโสภณภควดี สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนมายุ ๘ พรรษา
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ประสูติเมื่อ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๙เป็นต้นราชสกุลจักรพันธุ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๓
๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังสีสว่างวงศ์ ประสูติเมื่อ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๓มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ วังบูรพาภิรมย์
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา
ในขณะที่ทรงผนวชอยู่ ทรงจัดตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ. ๒๓๗๒ เนื่องด้วยพระองค์ทรงผนวชอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญในภาษามคธ บาลี และสันสกฤตพระองค์จึงสามารถสอบสวนข้อความต่างๆ ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎกทุกฉบับได้โดยละเอียด ตลอดจนสามารถเรียนรู้และกำหนดจดจำตามพระอรรถกถาด้วยพระองค์เอง จึงได้ความว่า คลาดเคลื่อนจากพุทธบัญญัติเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้ร่วมกันจัดตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้น ซึ่งได้ทรงอนุเคราะห์สั่งสอนกุลบุตรและผู้มีศรัทธาในข้อวินัยวัตรและสุตตันตปิฎกต่างๆ อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย จนกุลบุตรเหล่านั้นเกิดความศรัทธา ขอบรรพชาและอุปสมบทประพฤติตามธรรมยุติกนิกาย นับเป็นมหามหัศจรรย์แห่งพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงทำนุบำรุงพระเจดีย์ เมื่อเสด็จพระธุดงค์ไปยังเมืองนครชัยศรี (จ.นครปฐม) ทรงพระราชวินิจฉัยว่าสถูปโบราณแห่งนี้มีลักษณะแตกต่างจากเจดีย์องค์ก่อนๆ ในราชอาณาจักร ด้วยความที่ทั้งใหญ่โตและเก่าแก่มาก เมื่อเสด็จขึ้นครองภูเขาทองราชแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์แห่งนี้ โดยสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมไว้ (เพราะพระเจดีย์เก่าทรุดโทรมและต้องการอนุรักษ์แบบของเจดีย์องค์เดิมไว้) โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อพ.ศ.๒๓๙๖ และพระราชทานนามว่า พระปฐมเจดีย์ โดยทำการบูรณะเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้มีการทำบุญวันวิสาขบูชาขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้สร้างภูเขาทอง โดยให้สร้างพระเจดีย์บรรจุเขี้ยวแก้วและพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้บนยอดแล้วพระราชทานนามว่า พระบรมบรรพต การสร้างพระบรมบรรพตนั้นยังไม่เสร็จสิ้นมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสร็จสมบูรณ์
พระราชกรณียกิจด้านการทำนุบำรุงประเทศ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้บ้านเมืองในขณะนั้นดูคับแคบไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นอีกหลายสาย เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร เพื่อการคมนาคมภายในประเทศจะได้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้พระองค์ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่เขามหาสมณะ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเขามหาสวรรค์) โดยเริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ และพระราชทานพระนามพระราชวังแห่งนี้ว่า พระนครคีรี หรือที่เราคนไทยรู้จักกันดีในนาม เขาวัง นั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง หอชัชวาลย์เวียงชัย โดยสร้างเป็นรูปวงกลม คล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนภายในขึ้นบนหลังคารูปโดมมุงด้วยกระจกโค้ง กลางคืนจุดไฟสามารถมองเห็นไปได้ไกลถึงชายทะเล นักเดินเรือได้อาศัยแสงโคมนี้เป็นประภาคารนำเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมในเวลากลางคืน ราษฎรเรียกว่า กระโจมแก้ว หอชัชวาลย์เวียงชัยแห่งนี้มีลักษณะคล้ายหอสังเกตุการณ์ทางดาราศาสตร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก
พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง
พระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งตำรวจนครบาลขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือ ชาวบ้านเรียกว่า หัวแดงแข้งดำ พร้อมกับทรงจัดตั้งศาลยุติธรรม และโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติและกฎหมายต่างๆ มากมายถึง ๕๐๐ ฉบับ
พระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์อย่างมากทรงสามารถคำนวณวันเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคาล่วงหน้าถึง ๒ ปีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำพระองค์จึงทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทยคนแรกที่สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาปวงชนชาวไทยจึงได้ถวายพระราชสมัญญาให้พระองค์เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย โดยกำหนดให้วันที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคา (๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑) เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีดาวหางปรากฏถึง ๓ ดวง ได้แก่ ดาวหางฟลูเกอร์กูส์ ดาวหางโดนาติ และดาวหางเทบบุท
ในปีพ.ศ.๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง พระที่นั่งภูวดลทัศไนย เพื่อใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของไทย พระที่นั่งภูวดลทัศไนยนี้เป็นอาคารทรงยุโรป สูง ๕ ชั้น ด้านบนติดนาฬิกาใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน ตั้งอยู่บนเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดาตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกของไทย
พระราชกรณียกิจด้านประเพณีและวัฒนธรรม
เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจในความต้องการของประชาชนว่าต้องการที่จะเข้าเฝ้าเพื่อชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดและเปิดเผย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงยกเลิกพิธีการห้ามประชาชนเข้าเฝ้าหรือจ้องมองพระเจ้าแผ่นดิน และเลิกบังคับให้ประชาชนปิดประตูหน้าต่างสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านและโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าเฝ้าได้โดยทั่วถึง พร้อมกับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายฎีการ้องทุกข์กับพระองค์ได้อีกด้วย
พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
เมื่อเริ่มต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจนิยมลัทธิการล่าอาณานิคมเป็นอย่างมาก โดยอาศัยวิธีการทูตเข้ามาขอเจรจาทำสัญญา ซึ่งประเทศมหาอำนาจเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์มากมาย และถ้าหากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าไม่ยอมทำตามสัญญา ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นก็จะใช้กำลังบังคับให้ยอมปฏิบัติตาม ซึ่งก็กระทำสำเร็จมาแล้วหลายประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริกาใต้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประเมินสถานการณ์และกำลังของประเทศแล้ว จึงทรงยอมผ่อนปรนติดต่อกับประเทศตะวันตก และทรงใช้นโยบายทางการทูตยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อรักษาเอกราชของประเทศ โดยทรงทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตกเหล่านั้น
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษ ได้ส่งราชทูตชื่อ เซอร์ จอห์น เบาริง นำพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาขอเจริญพระราชไมตรีด้วยในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ซึ่งสนธิสัญญาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามกับประเทศอังกฤษในครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันดีในนาม สนธิสัญญาเบาริง
นอกจากนี้ไทยยังทำสนธิสัญญาในทำนองเดียวกันนี้กับ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เยอรมนี อิตาลีเนเธอแลนด์ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดฯ และนอร์เวย์ ซึ่งการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศนั้นก็มีข้อดีอยู่บ้าง ได้แก่
๑. ทำให้ประเทศไทยรักษาความเป็นเอกราชได้ตลอดมา
๒. การยกเลิกระบบการค้าผูกขาดมาเป็นการค้าแบบเสรีทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว
๓. การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ทำให้ไทยมีโอกาสได้รับวิทยาการอันทันสมัยเข้ามาใช้พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
พระราชกรณียกิจด้านการเปลี่ยนชื่อประเทศ
ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ควรเปลี่ยนชื่อประเทศจากกรุงศรีอยุธยาเป็นสยามเนื่องจากกรุงศรีเป็นชื่อของราชธานีเดิมเมื่อเปลี่ยนที่ตั้งราชธานีแล้วควรเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ เพื่อเป็นการแสดงให้รู้ว่ามีการย้ายเมืองหลวงมาตั้งในสถานที่ใหม่แล้ว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่บ้านหว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคไข้ป่า และเสด็จสวรรคตเมื่อถึงพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ รวมมีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา รวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัตินาน ๑๗ ปีเศษ พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ด้วยมีพระปรีชาสามารถอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้พระองค์ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาสร้างโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้แทนเงินพดด้วง อีกทั้งมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายประการ เช่น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นมาใหม่หลายสาย ทรงริเริ่มให้มีการจัดตั้งนิกายใหม่ทางพุทธศาสนา ชื่อว่าธรรมยุติกนิกาย รวม ถึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น ณ บริเวณด้านหน้ากระทรวงเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
เกร็ดความรู้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุให้รอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการะบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ปั้นหล่อเทวรูปสมมติขึ้น ถวายพระนามว่า พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรมซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูนที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น